รู้จักกับแอคชัวรี
คณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science)
"คณิตศาสตร์ประกันภัย (actuarial science)" เป็นสาขาวิชาที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เป็นสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาต่างๆหลายด้าน เช่น คณิตศาสตร์ (mathematics), ทฤษฎีความน่าจะเป็น (probability), สถิติศาสตร์ (statistics), การเงิน (finance), เศรษฐศาสตร์ (economics), เศรษฐศาสตร์การเงิน (financial economics), และการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (computer programming) เป็นต้น
เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างสถิติศาสตร์และคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับการคาดคะเนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยทำให้เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหตุเป็นผลในรูปของการเงิน โดยการพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์มาประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจ โดยคิดถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ และสามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต สามารถทำงานในองค์กรต่างๆ อาทิ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจทางการเงิน และอื่นๆ เป็นต้น
คุณเหมาะสมแล้วหรือยังสำหรับอาชีพนี้...10 เหตุผล ของการเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี่
1. ชอบวิเคราะห์อดีต และจำลองอนาคต
2. อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนแพทย์หรือผู้พิพากษา
3. ชอบที่จะแข่งขันกับตัวเอง สอบยกระดับให้ได้คุณวุฒิ
4. ชอบอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
5. ชอบคิดเป็นตรรกะ มีเหตุมีผล และตัดสินใจโดยใช้หลักการ
6. ชอบนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์กับโลกธุรกิจ
7. ชอบวางแผน วางกลยุทธ์ และสามารถคิดล่วงหน้าไปให้ไกล
8. มีวินัย มุ่งมั่น และความอดทน สู่หนทางของการเป็นแอคชัวรี
9. มองหาอาชีพที่มีความต้องการในตลาดสูง
10. มองหาโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ
วิชาชีพของแอคชัวรี
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นอาชีพที่ต้องการมากในปัจจุบันทั้งตลาดแรงงานไทยและต่างประเทศ แต่ผู้ที่ได้รับคุณวุฒินักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทยยังคงมีจำนวนไม่มากนัก จึงทำให้สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้รับผลตอบแทนการทำงานที่สูง ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำพาท่านไปสู่ความสำเร็จในสายอาชีพนี้
หลายๆปีที่ผ่านมาอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย(actuary-แอคชัวรี) ติดอันดับในกลุ่ม "อาชีพที่ดีที่สุด" ของการสำรวจจากแหล่งต่างๆ เช่น Career Cast และ Career-advice ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการจัดอันดับคำนึงถึง รายได้, สภาพแวดล้อม, ความก้าวหน้า, ความมั่นคง และความเครียดในการทำงาน
ในการที่จะได้รับคุณวุฒิเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย(Actuary) จำเป็นต้องสอบผ่านข้อสอบวิชาชีพหลายวิชาของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เช่น คณิตศาสตร์การเงิน, ทฤษฎีความเสี่ยงและความน่าจะเป็น, ทฤษฎีดอกเบี้ย, ทฤษฎีความน่าเชื่อถือและการแจกแจงการสูญเสีย และอื่นๆ เป็นต้น
ระดับคุณวุฒิแอคชัวรี่
คุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นแบ่งออกได้หลายระดับและหลายประเภท ตามที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นๆสามารถสอบผ่านการวัดระดับความรู้จากสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างๆ ซึ่งสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยแต่ละแห่ง จะมีกำหนดชื่อเรียกคุณวุฒิแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น คุณวุฒิ FSA = Fellow of the Society of Actuaries (USA) ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศอเมริกา การสอบเอาคุณวุฒิมี 10 ระดับตามรายละเอียดต่อไปนี้
แผนภูมิการเดินทางของการเป็น FSA
การสอบเอาคุณวุฒิระดับต้นนั้น จำเป็นจะต้องสอบผ่านทั้ง 5 ตัวดังต่อไปนี้
Preliminary exams
1. Exam FM – Financial Mathematics
2. Exam P – Probability
3. Exam MLC – Model for Life Contingencies
4. Exam MFE – Model for Financial Economics
5. Exam C – Construction and Evaluation of Actuarial Models
Preliminary exams – Exam FM
เกี่ยวข้องกับ ความหมายของคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์การเงิน เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย มูลค่าปัจจุบัน มูลค่าอนาคต หุ้น พันธบัตร และการคำนวณเกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งการคำนวณการชำระหนี้แบบต่างๆ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ รวมถึงการหาผลตอบแทนของตราสารอนุพันธ์
Preliminary exams – Exam P
ความน่าจะเป็น ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับ ความน่าจะเป็นทั่วไป การแจกแจงความน่าจะเป็นแบบต่างๆ ทั้งแบบต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องสำหรับหนึ่งตัวแปรและหลายตัวแปร
Preliminary exams – Exam MLC
คณิตศาสตร์ประกันภัย ที่จะเกี่ยวข้องกับตัวแบบความอยู่รอดแบบต่างๆ ซึ่งได้นำมาคิดเป็นเงินรายงวด เบี้ยประกันภัย และเงินสำรองประกันภัย แบบจำลองห่วงโซ่มาคอฟ (Markov chain model) และกระบวนการปัวร์ซอง (Poisson Process) การจะสอบตัวนี้ได้นั้น ผู้สอบควรจะมีพื้นฐานจาก ExamFM และ Exam P โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของคณิตศาสตร์การเงินและความน่าจะเป็นให้แน่นเสียก่อน
Preliminary exams – Exam MFE
การคำนวณตราสารอนุพันธ์ (Derivative) แบบจำลองราคาหุ้น การคำนวณเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ดัวยวิธี Black-Scholes และ Binomial tree การวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของราคาตราสารอนุพันธ์จากพารามิเตอร์ของสูตร Black-Scholes การจัดการความเสี่ยงโดยการทำ Delta hedging การคำนวณเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์แบบพิเศษ (Exotic options) และแบบจำลองอัตราดอกเบี้ยการจะสอบตัวนี้ได้นั้น ผู้สอบควรจะมีพื้นฐานจาก ExamFM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ให้แน่นเสียก่อน
Preliminary exams – Exam C
การใช้ความรู้ทางสถิติ ตัวแบบความรุนแรง (Severity model) ตัวแบบความถี่ (Frequency model) ตัวแบบรวม (Aggregate model) การคิดค่าสถิติของแบบประกันที่มี Deductible, Limits หรือ Coinsurance การประเมินความเสี่ยงโดยใช้ VaR (Value at risk) การสร้างแบบจำลอง Empirical การสร้างและการเลือกแบบจำลอง Parametric การใช้ทฤษฎี Credibility และการจำลอง (Simulation)